ความเห็นของข้าพเจ้า: อยากยกเลิกกิจกรรมรับน้องไหม

ความเห็นของข้าพเจ้า: อยากยกเลิกกิจกรรมรับน้องไหม

ถ้าถามว่าให้ยกเลิกกิจกรรมรับน้องไหม (เหมารวม ๆ ไปกับเชียร์) ก็ต้องขอบอกว่า "ไม่" เพราะกิจกรรมพวกนี้ทำให้คนเจอกันได้มากขึ้น และต้องคำนึงถึงว่ามีกลุ่มคนที่ไม่สามารถทำความรู้จักกับผู้อื่นได้โดยไม่มีกิจกรรมเป็นตัวเชื่อมโยง

แต่ในทางกลับกันก็ต้องมองถึงความแตกต่างว่ามีคนอีกหลายคนที่ไม่ต้องการร่วมกิจกรรม และไม่อยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมแบบนี้ เช่น สันทนาการ (คนมักเข้าใจว่าแค่ได้ร้องเล่นเต้นรำก็หายเครียด ได้พักผ่อน แต่นี่คือตัวอย่างของคนที่ความคิดแคบ เพราะสำหรับบางคนการได้พักผ่อนคือการได้อยู่คนเดียว หรือนั่งเล่นเกมกับเพื่อนในกลุ่ม)

ทุกวันนี้ตัวกิจกรรม (มองจากภายในคณะตัวเอง) ไม่สามารถประเมินได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะไม่สามารถคำนึงถึงเป้าหมายได้ โดยตัวกิจกรรมยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า คำว่า "สามัคคี" คืออะไร มันเลยไม่สามารถบอกได้ว่าบรรลุเป้าหมาย อีกทั้งกิจกรรมใช้การบีบบังคับเชิงสังคม (เช่น การใช้คำว่า ว่าที่รุ่น XX) จึงตัดสินไม่ได้ว่าจำนวนคนที่เข้ามา คือ จำนวนคนที่สนใจจริง ๆ

อีกประการ คือ เรื่องสายรหัสนิดหน่อย (อันนี้สงสัยส่วนตัว) ตัวสายรหัสโดยพื้นฐานของกิจกรรมนี้ในภาพรวม (หลาย ๆ มหาลัยในประเทศนี้) คือการสร้างความคุ้นเคยและความช่วยให้เด็กใหม่ที่เข้ามา แต่สายรหัสของบางมหาลัย ต้องผ่านกิจกรรมเชียร์หรือรับน้องก่อน ทำให้เกิดการขัดแย้งว่า จะช่วยให้ปรับตัวได้ดีขึ้น แต่ต้องผ่านพิธีกรรม / กิจกรรม บางอย่างก่อน ดังนั้นมันเลยไม่ทำให้วัตุประสงค์ของสายรหัสสำเร็จได้ ? เป็นเพียงการรับเด็กใหม่ที่ผ่านการยอมรับทางพิธีกรรม

ความจริงย้อนไปแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่มัธยม (มีสายรหัสเหมือนกันทั้งห้องและสายโรงเรียนและสายห้องวิทย์ เยอะมาก) ก็ไม่ได้เห็นด้วยเรื่องสายรหัสอยู่แล้ว เพราะมองว่าดูเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ให้เกิดการสนับสนุนช่วยเหลือเพียงเฉพาะคนภายใต้สายตนเอง คิดว่าการสร้างสภาวะแบบนี้คล้ายการสร้างเส้นสาย หรือตามแต่จะคิดกัน ตนเองเคยได้อ่านบทความเรื่องการจัดการเด็กใหม่โดยปราศจากสายรหัสของมหาลัยแห่งหนึ่งในยุโรป ใช้วิธีการให้นศ.เก่าที่อยู่มาก่อน (ไม่อยากใช้คำว่ารุ่นพี่เพราะ นศ.ใหม่บางคนก็แก่กว่า) เข้าไปนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกับนศ.ใหม่เพื่อการรู้จักอย่างทั่วถึงแทน

ตอนแรกกะเขียนนิดเดียวแล้วยาวเลย ความจริงเคยพูดคุยประเด็นรับน้องหรือเชียร์กับมิตรสหายท่านหนึ่งว่า ถ้าเด็กไทยและคนไทย มีวิจารณญาณมากพอ และคิดวิเคราะห์เป็นกว่านี้จะเห็นว่ากิจกรรมเชียร์ที่ทำอยู่นี้มันไม่ได้ให้ผลดีชัดเจนและควรเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างในตัวกิจกรรม เช่น เลิกคิดได้แล้วว่าการให้ทุกคนมานั่งเต้นทำกิจกรรมฐานด้วยกัน จะสร้างความ Unity ได้ในระยะยาว เพราะความเป็นอันหนึ่งอันเดียว กับ ความสามัคคียามทำงาน เป็นคนละอย่างกัน ทุกคนคิดต่างกันจึงต้องมีการโต้เถียงกัน ไม่ถูกกัน มันจึงไม่มีทางเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แต่ทุกคนสามารถเกิดความสามัคคีกันและมองข้ามเรื่องส่วนตัวเพื่อทำงงานของภาพรวมให้สำเร็จได้

สุดท้าย คือ ฝากไว้ นับวันเด็กจะต่อต้านและคิดสงสัยในกิจกรรมจะมากขึ้น กิจกรรมเหล่านี้ควรเปลี่ยนตามกาลเวลา เพราะสิ่งใดที่ต้านกาลเวลามักจะถูกทำลายไปในที่สุด

ป.ล. มีความเห็นกันอย่างไรก็เถียงกันได้ใต้คอมเม้นท์ ความจริงทุกความเห็นไม่ว่าจะสนับสนุนเชียร์หรือไม่ ก็ไม่ผิด ถ้ามีเหตุและผลที่ดีพอ ไม่ใช่อ้างผู้อาวุโส อดีตเก่า ๆ และหลักการที่ถูกปลูกฝังมาโดยไม่ได้คิด