How to ทำโรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง? ก็ปกป้องโรงเรียนไงล่ะ!


ทวนประโยคเปิดเรื่องอีกรอบละกัน

ถาม: How to ทำโรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง
ตอบ: ออกมาปกป้องโรงเรียนแล้วยัดขยะกลับเข้าใต้พรมให้มิดไงล่ะ!

ความจริงเวลาเกิดเรื่องแบบนี้ในโรงเรียน เช่น โรงเรียนเกิดเรื่องแย่ๆ มีคนเอามาแฉแล้วคนแฉกลับโดนด่าว่าทำลายชื่อเสียงโรงเรียน ไม่รักดี ลอบกัด หรืออย่างไรก็ตามทีเห็นกันทั่วไป ตัวผมมักไม่อยากที่จะโทษว่าทั้งหมดเป็นความผิดของเด็กเลย ถึงแม้อยากจะโทษใจจะขาดก็ตาม แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อเด็กเหล่านี้โตมากับการสั่งสอนในสังคมที่นิยมการหมกความผิดไว้ใต้พรม และดูถูกคนที่เอาเรื่องแย่ๆขององค์กรตัวเองมาแฉ

อันที่จริงบทความนี้เขียนเพราะได้เข้าไปอ่านในกระทู้หนึ่งในพันทิปมา (https://pantip.com/topic/34246709) ผมขอย่อความสั้นๆละกัน ประเด็นคือมีเด็กออกมาตั้งกระทู้ว่า "ครูให้ทำคะแนนเสริมโดยการไปดูหนังในโรงเรื่องหนึ่งเพื่อแลกกับคะแนน" ประเด็นแรกเริ่มอาจจะเป็นเพียงแค่ ทำไมครูต้องให้งานที่บังคับให้เสียเงินเพื่อเข้าไปดูหนังโรงด้วย แทนที่จะมอบหมายงานที่เป็นสื่อการเรียนรู้ที่เด็กทุกฐานะหากันได้ง่าย เช่น หนังสือ นิตยสาร หรือสื่อตามอินเตอร์เน็ต แต่เรื่องกลับบานปลายเมื่อเด็ก(ผู้มีความรักครูและโรงเรียน) ออกมาเม้นท์หาว่า "เจ้าของกระทู้ทำลายชื่อเสียงโรงเรียน และทำให้ครูเสื่อมเสีย แทนที่จะได้คะแนนพิเศษกันง่ายๆ" กลายเป็นปัญหาบานปลายเมื่อหลายคนเห็นว่าเด็กส่วนใหญ่อยากได้คะแนนง่ายๆโดยไม่ต้องทำอะไรให้ยาก จากปัญหาแค่เรื่องเงินและงาน ตอนนี้กลายเป็นการถกเถียงเรื่องปัญหาการศึกษาและสังคม

เราเห็นอะไรจากตัวอย่างที่เล่ามาเมื่อกี้? คนที่ถูกตราหน้าว่าทำโรงเรียนเสื่อมเสีย หรือตั้งประเด็นเอง กลายเป็นไม่ได้ทำอะไร ส่วนคนที่ไม่อยากให้แฉ หรือเป็นคนที่รักโรงเรียน กลับมาแฉตัวเองโดยมิได้ตั้งใจไปเสียงั้น

ก็เป็นอย่างที่เขาว่าเด็กส่วนใหญ่มักไม่ได้นึกคิดอะไรก่อนเอาความคิดตัวเองออกสู่โลกสาธารณะและสื่อออนไลน์ จึงไม่แปลกที่ทุกครั้งเวลาเกิดเรื่องหรือปัญหากับโรงเรียน เรามักเห็นเด็กออกมาโวยวายแบบจับประเด็นกันไม่ได้ และสุดท้ายกลายเป็นหน้าที่ครูที่ต้องรีบตามเก็บประเด็นให้หมด

อย่างที่เกริ่มไปตอนแรก สังคมสมัยนี้ชอบให้เอาปัญหายัดใต้พรมทำให้ดูเหมือนทุกอย่างสะอาดใส แต่ทุกครั้งที่ปัญหาหลุดออกมา มันก็เหมือนจะทะลักออกมาเป็นกองๆ ทุกวันนี้สังคมเราขาดการกระตุ้นให้คนในสังคมเอาปัญหาต่างๆออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างทั่วถึงเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาและจัดการกับปัญหาอย่างตรงเป้าหมาย ผลสุดท้ายของการที่เราไม่เอาปัญหาออกมาพูดแล้วไปรุมโทษคนที่เอาปัญหามาพูดก็จะเป็นเพียงการไม่เอาหนองออก ปล่อยให้มันเน่าไปเรื่อยๆเท่านั้น

ปิดท้ายกับตัวอย่างที่คนแฉไม่ได้แฉ แต่คนไม่อยากแฉดันมาแฉเสียเอง (ประเด็นดราม่ารุ่นพี่ทำร้ายรุ่นน้องในจุฬาภรณ์ เชียงราย)