เป็นไปได้ไหมถ้าจะหาเนื้อคู่ด้วยวิธีแบบ Programmatically ?
เมื่อกี้อึอยู่ในห้องแห่งความคิด (ห้องน้ำ) ละคิดว่าถ้าเราทำระบบที่ดึงทวิตของเราเป็นฐานการค้นหาแล้วไปดึงทวิตคนอื่นมาเทียบเพื่อหาเนื้อคู่ หรือคนที่เข้ากับเราได้จะเป็นไปได้ไหม
ส่วนที่บอกว่า "เอาทวิตมาเทียบ" ไม่ได้หมายถึงดึงคำแล้วมาเช็คว่าทวิตคำในหัวข้อไหนเหมือน ๆ กันบ่อยไหม แต่เทียบกันในระดับความหมายของประโยค ผมไม่มั่นใจว่ามันสามารถเรียกว่าเป็นการทำ Natural Language Processing (NLP) ได้ไหม คือไม่ได้เทียบคำต่อคำ แต่เทียบในสิ่งที่เจ้าของทวิตนั้นพยายามสื่อ
แล้วทำไมต้องเป็นทวิตเตอร์ เพราะจากการที่เล่นทวิตเตอร์ (Twitter) มายาวนาน (ห้าปีนานพอไหม) โดยส่วนตัวคิดว่า ทวิตเตอร์เป็น Social Network ที่สามารถดึงเอกลักษณ์, ความคิด ของตัวบุคคลออกมาได้ดีกว่าสื่อออนไลน์อื่น ๆ เช่น Facebook ที่คนมักสรรสร้างภาพลักษณ์เพื่อพยายามอวดชาวบ้านชาวช่อง ซึ่งในกรณีนี้ก็นับเฉพาะคนที่เล่นทวิตเตอร์ และทวิตข้อความจริง ๆ ไม่ใช่พวกเข้ามาสไลด์อ่านไปวัน ๆ แล้ว Retweet หรือพวกปั่นเทรนด์
อย่างที่ผมเข้าใจ ผมคิดว่ามันน่าจะมีงานวิจัยหรือระบบทำนองนี้อยู่แล้ว ที่ดึงหัวข้อหรือความหมายของประโยคสักประโยคขึ้นมา แต่เท่าที่เห็นเหมือนจะมีแต่ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และปัญหาของปัญหานี่ (ปัญหาเซปชั่น) ก็คือมันคงดึงแค่ความหมายของประโยคมาหาเนื้อคู่ด้วยไม่ได้ แต่ต้องดึงอารมณ์หรือความรู้สึกที่แฝงอยู่ในนั้นออกมาด้วย เพราะคนเราจะคบกันคงไม่ได้คบกันแค่เพราะคุยเรื่องเดียวกัน แต่ต้องคุยเพราะอารมณ์เข้ากันได้ด้วย
แต่คำถามที่เด้งในหัวต่อมาคือ คนเราเลือกเนื้อคู่ด้วยเหตุผลไหนมากกว่ากันระหว่าง เลือกคนที่เหมือนกับเรา เพราะเข้ากันได้ดี หรือเลือกคนที่ต่างกับเราพอสมควรเพื่อเรียนรู้กันและะสนุกไปด้วยกัน เอาจริง ๆ ถ้าต้องการทำระบบแบบนี้จริง ๆ และมีความรู้เรื่อง NLP, Machine learning หรือศาสตร์ทำนองนี้ก็อาจจะยังไม่พอ ก็คงต้องมีประสบการณ์ความรัก หรือไปหางานวิจัย, สถิติ และประสบการณ์ตรงจากคนที่ประสบความสำเร็จทางความรักอีกอยู่ดี (นี่ไม่เคยมีแฟนจ้า สรุปและให้เหตุผลแง่ความรักไม่ได้เลย)
แต่พอคิดไปคิดมา เริ่มสงสัยละว่าถ้าทำแบบนั้นจริงมันจะได้เนื้อคู่หรือฝาแฝดกันแน่ ซึ่งอันนี้ก็วกกลับไปที่ย่อหน้าก่อนหน้านี้ว่าสุดท้ายเราต้องการเนื้อคู่แบบไหนกันแน่ เอาจริงแต่ละคนก็คงมีวิธีการเลือกเนื้อคู่ของตนเองอยู่แล้วแหละ แต่โดยความเห็นส่วนตัว (ไม่สามารถกล่าวว่าเป็นจริงได้เพราะไม่เคยพิสูจน์) การหาคนที่เข้ากันได้ คุยเรื่องเหมือน ๆ กันได้ นิสัยเข้ากันได้ น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตคู่ยืนยาวที่สุด เพราะหน้าตามันไม่คงกระพัน มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่สันดานนี่สิมันคงอยู่กันไปนาน ผมคิดว่าบางคนที่เลิกกันเพราะคำพูดว่า เธอเปลี่ยนไป นี่อาจจะไม่ได้เปลี่ยนกันจริง ๆ แต่แค่สันดานของจริงมันโผล่
ให้อีกย่อหน้า... เกิดสงสัยระหว่างเขียนบทความนี้พอดี คำว่านิสัย สันดานเข้ากันได้จนเรียกได้ว่าเป็นคนรักกันนี่ให้พูดกันแบบวิทยาศาสตร์ หรือเหตุและผลนี่คือมันเข้ากันยังไง เข้ากันได้นี่คือเหมือนกัน คล้ายกัน หรือต่างกันแต่อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ? สมมติว่ามีกลุ่มคนที่มีสเป็คคือ นิสัยต่างกันในช่วงขอบเขตที่รรับได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาว่าระบบจะรู้ได้ไงว่า รับได้ ของคุณนี่มันแค่ไหน
ก็ไม่มีอะไรมากสำหรับบทความนี้ พอดีมันปิ๊งมาในหัว ตอนแรกอยากจะทวิตเฉย ๆ แต่มันยาว เลยมาเขียนบล็อกแทนครับ คิดซะว่าเป็นคำบ่นของมิตรสหายท่านหนึ่งก็ได้