บทสัมภาษณ์น้องภูมิ โค้ดเดอร์รุ่นเยาว์ที่ขึ้นพูดในเวทีงาน JSConf ณ สิงค์โปร์ กับชีวิตความสำเร็จนอกระบบการศึกษา
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา SELF-EFFICIENCY AND CAREER MANAGEMENT สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
"ต่อให้เก่งแค่ไหน แต่คุณไม่เรียนหนังสือ คุณจะเอาอะไรไปยืนยันว่าคุณมีความสามารถจริง" ประโยคหนึ่งจากสังคมออนไลน์ที่พูดถึงการหยิบใช้วิวาทะ เช่น "บิลเกตต์เรียนไม่จบ สตีฟจบไม่จบมหาลัย" ซ้ำไปมาทุกวันอย่างกับการขายฝัน พูดไปแล้วก็ดูเหมือนจะจริง ว่าการจะทำงาน ก่อร่างสร้างตัวก็คงต้องมีเครื่องยืนยันทั้งวุฒิการศึกษาหรือใบปริญญาเพื่อพิสูจน์ว่าเรามีความรู้ที่มากพอในระดับหนึ่งก่อนที่จะไปทำงานในบริษัทต่าง ๆ คนที่เรียนไม่จบแล้วออกมาทำงานได้ประสบความสำเร็จก็คงมีแต่พวกบุคคลอัจฉริยะ เจ้าของธุรกิจใหญ่โต ไม่มีทางที่คนทั่วไปจะไม่เรียนหนังสือแล้วประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนคนดังเมืองนอกอย่างนั้นหรอก
หรือว่าจะเป็นไปได้...
เรื่องนิยามของความสำเร็จนั้นก็อย่างที่ทราบกันว่ามีหลากหลายขนาดและรูปแบบ หากหลาย ๆ ท่านได้อ่านบทความชิ้นแรกของเรา (บทสัมภาษณ์พี่ท็อป จากคณะ IT กับความสำเร็จทุนเรียนป.ตรีฟรี) ก็คงจะได้พบกับคุณท๊อป หรือให้เรียกแบบเป็นกันเองว่า พี่ท็อป จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ใช้ชีวิตในรั้วมหาลัยใกล้เคียงคำว่าประสบความสำเร็จได้อย่างดีเยี่ยม จากทั้งผลการเรียน การร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ และทุนเรียนฟรีตลอดระยะเวลาปริญญาตรีของเขา แต่ในวันนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับอีกบุคคลหนึ่งที่อายุน้อยกว่าพี่ท็อป แต่ความสำเร็จไม่ได้เล็กตามอายุของเขาเลย ทั้งความสามารถในการทำงาน ประสบการณ์อันโชกโชนในสายงานที่เขาอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้เขาสามารถคว้ามาได้ โดย "ไม่จบมัธยมปลาย"
โจทย์ของเราในวันนี้ คือ การสัมภาษณ์บุคคลที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในวงกว้าง ซึ่งเราก็ได้รับเกียรติจากคุณภูมิ หรือ น้องภูมิ ซึ่งเป็นนักพัฒนาซอร์ฟแวร์ซึ่งทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพ และยังเคยได้ไปพูดในเวทีด้านเทคโนโลยีซอร์ฟแวร์ในต่างแดนมาแล้ว
เพื่อเป็นการไม่เสียเวลาผู้อ่านกับบทนำยืดเยื้อ งั้นเรามาเริ่มอย่างเป็นมารยาทด้วยการแนะนำตัวกับน้องภูมิกันก่อนเลยครับ
รบกวนสอบถามชื่อหน่อยครับ
ชื่อภูมิครับ ภูมิปรินทร์ มะโน
งั้นเดี๋ยวต่อจากนี้ขอเรียกว่าคุณภูมินะครับ
ได้ครับ
คุณภูมิเป็นคนจังหวัดอะไรครับ
กรุงเทพมหานครครับ
ครอบครัวทำงานเกี่ยวกับอะไรครับ
คุณพ่อคุณแม่ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ครุศาสตร์วิศวกรรมเทคโนลาดกระบัง
อ๋อ คุณพ่อเป็นอาจารย์สินะครับ แล้วคุณภูมิทำงานเกี่ยวกับอะไรครับ
เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ครับ
พอจะอธิบายเพิ่มได้ไหมครับว่าพัฒนาซอร์ฟแวร์นี้ พัฒนาด้านไหน และมันเกี่ยวกับอะไรยังไงครับ
การพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่เราจะเริ่มจาการนำเอา requirement หรือ ความต้องการของลูกค้า แล้วเลือกเทคโนโลยีจากนั้นจะทำการพัฒนาหรือว่าการเขียนโค้ด เพื่อให้ได้ซึ่งสินค้าหรือสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ
ทางเราได้สืบมาว่า คุณภูมิเคยไปร่วมงานในต่างประเทศ ชื่อว่างาน JSConf ครับ งานนี้จัดขึ้นที่ไหนครับ
จัดขึ้นที่ Capitol Theatre ที่ประเทศสิงคโปร์ครับ
อันนี้คือไปเป็นคนบรรยายด้วยใช่ไหมครับ
อ๋อ ใช่ครับ
บรรยายเรื่องอะไรหรอครับ
ไปบรรยายเรื่อง For the love of WebAssembly ด้วยความรักจากใจถึง WebAssembly
แล้วมีความรู้สึกยังไงบ้างครับ ที่มีผู้ฟัง มีโปรแกรมเมอร์หลายคนจากต่างประเทศมาฟังคุณภูมิบรรยาย
ก็เป็นความรู้สึกตื่นเต้น แต่ว่าชอบใจมากครับ เพราะว่า ตอนที่ขึ้นไปพูด ผมก็นำโปรเจคตัวเองขึ้นไปนำเสนอก็คือโปรเจค React-Rust ซึ่งหลายๆคนก็เข้าไปกดให้ดาว เยอะมาก ๆ ครับ ซึ่งเป็นการได้ดาวที่เยอะที่สุดเท่าที่เคยพูดมา แล้วก็มีโปรแกรมเมอร์ที่ทำงานอยู่ที่ Mozilla มาบอกว่าชื่นชอบใน Talk มาก ซึ่งเป็นอะไรที่ประทับใจมากครับ
แสดงว่าคุณภูมิเป็นคนที่มีความสามารถสูงมาก ๆ เลยนะครับ
ขอบคุณมากครับ
เมื่อกี้คุณภูมิบอกว่าเป็นโปรแกรมเมอร์ แล้วคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดในการเป็นโปรแกรมเมอร์ครับ
ผมว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการเป็นโปรแกรมเมอร์มีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพราะว่ามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมากแต่เราซึ่งเป็นนักพัฒนาซอร์ฟแวร์ก็ต้องเลือกด้วยครับว่า เทคโนโลยีไหนที่เหมาะสมกับงานของเราและเทคโนโลยีไหนที่จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจ หรือมีการนำมาใช้มากในอนาคต และอย่างที่สองคือการนำความต้องการของผู้ใช้มาแปลงเป็นโค้ดเพราะว่าความต้องการของผู้ใช้เป็นอะไรที่ปรับเปลี่ยนได้เยอะมากแต่การพัฒนาซอฟต์แวร์จำเป็นต้องใช้ความละเอียด ความรอบครอบเพราะโค้ดทำงานบรรทัดต่อบรรทัด เราจึงต้องพยายามกลั่นความต้องการของผู้ใช้จริง ๆ ออกมาเป็นสเปคที่ละเอียดมาก ๆ เพื่อจะได้นำมาพัฒนาได้ครับ
ทีนี้เราก็ได้สืบมาอีกว่า คุณภูมิตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อะไรทำให้ตัดสินใจไม่เรียนต่อครับ
ตอนแรกผมได้เข้าไปเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตอนที่เข้าไปช่วงแรก ๆ ผมได้เข้าแข่งงาน NSC หรือว่างานพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับประเทศซึ่งตอนนั้นผมมีความชอบและสนุกที่จะทำซอฟต์แวร์มาก ๆ เพราะว่าเราได้เห็นว่าซอฟต์แวร์ที่เราทำมีคนสนใจจะเอาไปใช้ในหลาย ๆ แบบที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน ผมก็เลยอยากจะลองออกจากโรงเรียนสัก 1 ปี เพื่อที่จะดูว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ตอนนี้คิดว่าคงไม่กลับไปเรียนแล้วครับ
เพราะว่าการเรียนรู้ด้วยตนเองมันโอเคกว่าสำหรับคุณภูมิใช่ไหมครับ
ใช่ครับผมมองว่าการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นอะไรที่เปิดกว้างกว่าและสามารถที่จะเจาะลึกในส่วนที่เราอยากรู้ เพื่อที่จะได้นำเอาไปพัฒนาต่อเป็น Product ที่เราต้องการได้
อันนี้มีคำถามหนึ่งคำถามนะครับว่า ทำไมคุณภูมิถึงคิดว่าการไม่มีวุฒิการศึกษาก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกับคนที่จบแบบทั่วไปครับ
ผมมองว่าเป้าหมายจริง ๆ ของการศึกษาจะเป็นเรื่องของการนำเอาความรู้บวกกับความเป็นอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวของตัวเอง เอามาผสมกันเพื่อที่จะได้เป็นบุคลากรที่สามารถพัฒนานวัตกรรมหรือเป็นนวัตกรเพื่อที่จะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา แล้วทำให้ประเทศดีขึ้น ทำให้โลกดีขึ้น แต่ว่าผมมองว่าการศึกษาด้วยตนเองเราก็สามารถไปถึงเป้าหมายนั้นได้เหมือนกัน โดยที่การศึกษาด้วยตนเองเรามีแหล่งเรียนรู้ค่อนข้างมากมาย และเราก็มีเวลาที่จะพัฒนาประสบการณ์ของเรา ลองศึกษาในเรื่องใหม่ ๆ ลองสร้างสินค้าใหม่ ๆ ที่ตอนแรกอาจจะไม่ดีนักแต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะได้เรียนรู้ และทำให้มันดีขึ้น
มีอีกคำถามที่อาจคล้าย ๆ กับคำถามก่อนครับ มี HR ของหลาย ๆ บริษัทที่มักจะมองที่วุฒิการศึกษามากกว่าความสามารถของตัวพนักงานคน ๆ นั้นจริง ๆ คุณภูมิมีความคิดเห็นในส่วนนี้อย่างไรครับ
ส่วนตัวมองว่าที่ HR หรือ ผู้ว่าจ้างเลือกมองที่วุฒิการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะว่านั่นก็เป็นสิทธิที่เขาสามารถตัดสินใจได้และการมีวุฒิการศึกษาก็เป็นสิ่งที่สามารถยืนยันได้ระดับนึงว่า คน ๆ นั้นเคยได้เรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ มาบ้างแล้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ แต่ผมมองว่าในอนาคตอันใกล้นั้นวุฒิการศึกษาอาจจะไม่ใช่แค่คำตอบเดียวครับ เพราะการศึกษาด้วยตนเองเริ่มเป็นที่สนใจในวงกว้างมาก เช่นเดี๋ยวนี้เริ่มมี Programming boot camp หรือ Free code camp ที่จะช่วยทำให้ผู้ที่ไม่ได้จบมาตรงสายหรือไม่ได้ศึกษามาเลยแม้แต่น้อย สามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและเก็บความรู้ เก็บประสบการณ์ เพื่อที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ในอนาคต ผมมองว่า HR ในอนาคตโดยเฉพาะ Start up ที่กำลังเกิดขึ้น ก็จะต้องปรับตัวให้ทันและมองที่ทักษะมากกว่ามองที่วุฒิครับ
เมื่อครู่นี้คุณภูมิบอกว่าไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมปลาย แล้วตอนนี้คุณภูมิมีความคิดที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยบ้างไหมครับ
จริง ๆ ส่วนตัวอยากจะลองลงลึกไปถึงศาสตร์ของ Computer Science เช่น เรื่อง Deep learning หรือ Image Processing แต่การที่ได้ไปปรึกษากับพี่ ๆ ที่เป็นระดับ CTO หรือเป็นระดับเจ้าของธุรกิจหลาย ๆ คนให้คำแนะนำตรงกันครับว่า เรื่องหลายๆอย่างเราศึกษาด้วยตนเองมาถึงขนาดนี้แล้ว ต่อไปเราก็แค่ทุ่มพลังงานและเรียนรู้ลงลึกให้มากขึ้นด้วยตนเองก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ตอนนี้เลยคิดว่าอาจจะเปลี่ยนจากการเรียนรู้ในห้องเรียนเปลี่ยนไปเก็บประสบการณ์นอกห้องเรียนมากกว่าครับ
เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากนะครับ ตอนนี้เชื่อว่าคนที่ได้ฟังความคิด หรือแนวคิดของคุณภูมิ คงต้องเชื่อมาในระดับนึงแล้วว่าคุณภูมิเป็นคนที่มีประสบความสำเร็จชีวิตในระดับหนึ่งแล้ว
ขอบคุณครับ
ทีนี้อยากจะถามคุณภูมิต่อว่า ถ้าพูดถึงความสำเร็จในชีวิตคิดว่าอะไร คือ สิ่งที่คุณภูมิคิดว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด
สิ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุด ผมมองว่ามีอยู่ 2 อย่างในขณะนี้ครับอย่างแรก คือ การทำสินค้าหรือทำซอฟต์แวร์ที่สามารถพัฒนาชีวิตของผู้คนได้เพราะผมมองว่าซอฟต์แวร์อย่างเดียวนั้นเป็นเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีก็เป็นแค่โค้ดแต่ว่าการที่ซอฟต์แวร์ไม่มีความเป็นมนุษย์นั้นมันทำให้ไม่สามารถไปต่อในระดับที่สูงกว่า ไม่สามารถพิชิตเป้าหมายของมนุษยชาติได้ก็คือ การทำให้โลกหรือประเทศน่าอยู่ขึ้น อย่างที่สองคือการพัฒนาผู้คน เพราะปัญหาบางอย่างสามารถแก้ได้ด้วยเทคโนโลยีแต่ปัญหาอีกส่วนนึงก็ต้องแก้ด้วยคนและปัญหาที่ต้องใช้เทคโนโลยีก็ยังต้องใช้คนมาแก้ปัญหาเพราะฉะนั้นผมมองว่าการที่เราสร้าง Community การที่เราพัฒนาชุมชน พัฒนาเด็กที่จะโตมาเป็นผู้ใหญ่ให้มีความเก่งกาจด้านซอฟต์แวร์ได้ก็เป็นอะไรที่ดีมาก ในการที่เราจะได้บุคลากรในประเทศที่มีความสามารเพิ่มขึ้น
เมื่อครู่นี้เราพูดถึงความสำเร็จนะครับ แล้วอะไรคือแรงบันดาลใจ หรือแรงผลักดันที่ทำให้คุณภูมิพยายามทุก ๆ อย่างมาจนประสบความสำเร็จแบบนี้ครับ
ผมมองว่าแรงบันดาลใจ ทุกคนต้องมีอิคิไก (Ikigai) หรือสิ่งที่ทำให้เราอยากตื่นมาในตอนเช้าใช่ไหมครับ ผมมองว่าสิ่งนั้นของผมคือการที่เราได้แก้ปัญหาที่เราเจอในทุกวัน เพราะตั้งแต่ผมเกิดมา ส่วนใหญ่เราจะผลักปัญหาหลาย ๆ อย่างให้อยู่กับคน ถ้าหากคนป้อนข้อมูลในสำนักทะเบียนผิดก็เป็นความผิดของคน แต่ผมมองว่าความผิดหลาย ๆ อย่างเราสามารถป้องกันได้ด้วยระบบที่ดีครับ ตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ที่ผมเล่นเกมครั้งแรกก็รู้สึกว่า ทำไมเราต้องโดน Limit ไว้ด้วยขอบเขตที่ผู้สร้างเกมสร้าง ผมก็เลยลองไปศึกษาการแก้ไขเกม การสร้างเกมขึ้นมาใหม่ ก็เลยได้เรียนรู้เรื่องการทำเกมมา ต่อจากนั้นก็เลยอยากรู้ว่าการเติมเงินในเว็บเติมเงินยังไงก็เลยลองสร้างระบบเติมเงินในเกมขึ้นมา ตอนนั้นก็เลยได้ศึกษาเว็บเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ต่อจากนั้นมาก็เลยรู้สึกมีความสุขกับการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบนี้ก็เลยลองสร้างซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และเอาลงใน Github และต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของการทำซ้ำ ๆ ก็เป็น Reward System ที่เมื่อเรามีความสุขในสิ่งที่เราทำ เราก็จะทำมันได้มากขึ้น
เรามีความสุขในงานที่เราทำ เรามี Passion ในการเขียนโค้ดหรือทำโปรแกรมอยู่แล้วก็เลยเป็นเหมือนแรงบันดาลใจไปเลยในตัวงั้นหรือครับ
ใช่ครับ
ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ มันอาจจะต้องมีสักครั้งนึงในชีวิตที่รู้สึกท้อแท้ที่สุดในชีวิตใช่ไหมครับ
ใช่ครับ
ถ้าไม่รังเกียจช่วยแบ่งปันให้ฟังได้ไหมครับ
อ๋อ ได้เลยครับ ตอนที่ท้อแท้ที่สุดน่าจะเป็นช่วงก่อนที่จะมาสนใจเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์จริงจังครับ ตอนนั้นผมสนใจในเรื่องการสร้างเกม หรือการแก้ไขเกมมาก แต่หลาย ๆ คนก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้ในอนาคต ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่ามันใช่จริง ๆ หรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ในตอนนั้นก็ยังอยากให้เป็นหมออยู่ ตอนนั้นก็เลยมองว่าเราก็ศึกษาค่อนข้างเยอะทำไมมันดูเหมือนไม่เกิดผลอะไรเลย แล้วก็อีกอย่างคือช่วงก่อนแข่ง เราก็จะเกิดอาการกังวลใช้ได้ว่า เราจะไปรอดไหม เราจะทำได้ไหม ช่วงนั้นก็ค่อนข้างท้อมากครับ
แล้วอะไรทำให้คุณภูมิก้าวข้ามความท้อแท้นั้นมาได้ครับ
สิ่งที่ทำให้ก้าวข้ามมาได้ ผมมองว่าน่าจะเป็นเรื่องการวาดฝันครับ เพราะว่าเราวาดฝันไว้ว่าสิ่งที่อยู่ในคอมเรา จะต้องเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนที่มีปัญหาเหมือนกับเราได้ใช้ สิ่งที่เราวาดฝันไว้สักวันมันต้องกลายเป็นจริงได้จากโค้ดบนคอมของเรา ตอนนั้นก็เลยมองว่าถึงตอนนี้จะยังไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เราก็พัฒนาทักษะของเราไปเรื่อย ๆ แล้วสักวันก็จะเกิดผล
และมันก็เกิดผลแล้วจริง ๆ
ขอบคุณครับ
ทุกคนน่าจะเคยมีสักครั้งที่ทำอะไรผิดพลาดหรือตัดสินใจบางอย่างไปแล้วรู้สึกเสียดายหรือเสียใจ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้มีอะไรที่อยากจะแก้ไขไหมครับ
ผมมองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่โรงเรียนครับ ผมมองว่าสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือ การทำทุกวินาทีให้มีค่าที่สุดเพราะเราไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมา ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ตอนนั้นผมอยากจะใช้เวลากับเพื่อนกับคนที่สนิทกันให้มากกว่านี้ เพราะว่าต่อมาเราต้องมาทำงาน ต้องแยกจากเพื่อน จริง ๆ ก็มองว่าเป็น Trade-off ที่ถ้ากลับไปได้ก็จะพยายามทำมันให้ดีกว่านี้ครับ
ก็เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน พอทำงานเพื่อนก็จะเริ่มห่าง ๆ กันหน่อย
ก็จะได้เพื่อนใหม่ครับแต่เพื่อนที่อยู่ที่โรงเรียนก็ต้องใช้เวลากับการพัฒนาตัวเค้าให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ก็เลยไม่ค่อยได้เจอกัน
ผมเชื่อว่าการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์จะต้องทำงานเป็นทีม จะต้องมีสักครั้งหรือหลาย ๆ ครั้งที่ความคิดเห็นไม่ตรงกับคนในทีม ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น คุณภูมิมีวิธีการแก้ปัญหาตรงนี้ยังไงครับ
ผมมองว่าความขัดแย้งมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น 2 อย่างครับ อารมณ์ขัดแย้งกันและตรรกะขัดแย้งกัน ซึ่งผมมองว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือ Embrace emotion หรือว่าต้องยอมรับความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ ตอนแรกเลยเราต้องเข้าใจให้ได้ว่าเขารู้สึกอะไรอยู่ พยายามให้เวลาเขาได้บอกความรู้สึก ว่าทำไมเขาถึงอยากได้สิ่งนี้ พอเราเคลียร์เรื่องความรู้สึกได้ ต่อไปก็เป็นเรื่องของลอจิกหรือตรรกะครับ เราก็ลองเปิดใจทั้ง 2 ฝั่ง แล้วเอาตรรกะของทั้ง 2 คนมาชั่งกันว่าตรรกะของใครจะทำได้ดีกว่า หรือบางครั้งที่มันขัดจริง ๆ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาคือ ถ้าความผิดพลาดนั้นไม่ทำให้บริษัทล่มได้ก็ยอมทดลองไปเถอะครับ ถึงเราจะรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เขาทำไปอาจจะส่งผลได้ผมก็ปล่อยไปก่อน ให้เขาได้ลองทดลองดูก่อน ให้ลองได้พิสูจน์สมมติฐานแต่ถ้าสมมติฐานเขาไม่เวิร์ค เราก็แค่ทำตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คือเปลี่ยนสมมติฐานใหม่ ตั้งสมมติฐานใหม่ และลองเดินไปในทางใหม่ครับ
ว้าว สุดยอดมากเลยครับความคิด
ทีนี้ผมมีคำถามที่สำคัญคำถามนึงครับ บางคนที่เป็นนักศึกษาด้านไอที ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านคอม หรือว่าที่เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ก็ประสบปัญหาหนึ่งเลยก็คือ ไม่ว่าจะพยายามเรียนรู้ เขียนโค้ดฝึกปรือมากแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ออกมาก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะเขียนโค้ดแล้วออกมามีบั๊คเยอะ หรือว่าผลสอบออกมาก็สอบตก หรือว่าได้คะแนนไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ลงทุนลงแรงไปกับมันมาก ตรงนี้มีอะไรอยากฝากถึงพวกเขาไหมครับ
ผมมองว่ามี Idiom หรือว่าคำนึงในวงการซอฟต์แวร์ครับ เราเรียกคำนี้ว่า “Believe in pain intuition” หรือว่าเชื่อมั่นในความเจ็บปวดครับถ้าเราทุ่มแรงกายแรงใจไปกับการศึกษาเรื่องนึงแล้ว แต่ว่ามันไม่ได้ผลผมว่าสิ่งที่เราควรทำคือ Step back ย้อนกลับมาก่อนก้าวนึงแล้วลองเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ก่อนครับ อย่างแรกคือผมแนะนำให้ตั้ง Motivation หรือตั้งเป้าหมายก่อนครับ ว่าเราอยากจะได้อะไร กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวเพราะฉะนั้นเราก็อาจจะไม่ต้องเก่งกาจในวันเดียวก็ได้ครับ แต่ว่ามองไว้ก่อนว่าพรุ่งนี้เราอยากจะเรียนรู้เรื่องนี้นะ สมมติว่าพรุ่งนี้ผมอยากจะทำ Quick sort ยังไง อย่างแรกเลยคือวิธีการเรียนรู้แบบไหนที่เหมาะกับเราจริง ๆ เพราะบางทีการไปนั่งฟัง Lecture ผมเชื่อได้ว่ามันไม่เวิร์คสำหรับหลาย ๆ คน ส่วนตัวถ้าให้ผมไปนั่งฟัง Lecture ผมก็ไม่เวิร์คเองเหมือนกัน เพราะว่าทุกคนมีอัตราเร็วในการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากัน ส่วนตัวถ้าเป็นตัวผมก็จะลองหาแหล่งเรียนรู้ใหม่ ๆ แล้วก็ใช้เวลาไปกับมันโดยที่ไม่ต้องเล่นครับ เช่นส่วนตัวเป็นผม ผมก็จะไปหาวีดีโอบางวีดีโอที่สอนเรื่อง Quick sort ใน TEDx เราก็ลองไปนั่งอ่านนั่งดูได้ พยายามใช้แหล่งเรียนรู้หลาย ๆ แหล่งครับเพราะใน TEDx เขาจะใช้รูป จะใช้ Visualization จะใช้การแปลงข้อความเป็นรูปในการสื่อสาร พอเราเข้าใจรูปตรงนั้นแล้วก็ลองเอาไป Apply อาจจะเป็นเว็บอย่าง HackerRank เพราะว่าแหล่งเรียนรู้นั้นเขาจะ Judge ไม่บังคับให้เราต้องเรียนรู้ได้เร็วแต่ว่าสิ่งที่เขาอยากได้ก็คือ ขอแค่ให้เราเข้าใจจริง ๆ ก็พอ ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเวลาไม่จำกัดขอบเขต ซึ่งผมมองว่าการเรียนรู้ด้วยตนเอง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่อาจจะมองตัวเองว่าไม่เก่ง ซึ่งจริง ๆ เขาอาจจะใช้วิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะกับเขาก็ได้ วึ่งจริง ๆ เขาอาจจะเก่งก็ได้ครับ
มาถึงคำถามสุดท้ายครับ เป็นคนถามที่สำคัญมากและคิดว่าหลาย ๆ คนคงอยากรู้ คุณภูมิโอชิใครใน BNK48 ครับ
ปัญครับ (หัวเราะ)
วิดีโอคำถามพิเศษ คำพูดจากน้องภูมิฝากถึงเพื่อน ๆ และคนอื่น ๆ ที่ยังเรียนหนังสือในระบบการศึกษาไทย
.