เล่าชีวิตพิชิต Annapurna Base Camp (ABC)

เล่าชีวิตพิชิต Annapurna Base Camp (ABC)

โพสต์นี้เขียนในรูปแบบเล่าไปเรื่อยเหมือนเรานั่งบ่นให้ฟัง เราจะเขียนแยกอีกโพสต์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง แผนการต่าง ๆ การเตรียมตัว ดังนั้นโพสต์นี้อ่านเราบ่นขิงข่าและดูภาพขำ ๆ ไป เขียนเพราะเพื่อนหลายคนอยากให้รีวิว

เส้นทางเดินของเราคือ เริ่มจาก Nayapul - Poon Hill - ABC ทางเดินกลับจะเหมือนทางเดินขึ้นประมาณ 50% และมีจุดที่เดินแยกไปอีกเส้นทางก่อนไปถึงจุดขึ้นรถขากลับเพื่อนั่งรถ Jeep ไปผ่านด่านขาออกที่ Nayapul

📷 ภาพในบล็อกนี้ถ่ายด้วย Pixel 7 และ Sony RX100 M7

Day 1, Kathmandu

ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปเมืองกาฎมันดุแล้วเข้าพักที่โรงแรมกลางเมือง เมืองหลวงเนปาลก็คือฝุ่นเยอะไม่ต่างจากประเทศไทย แถมมาคือรถตู้ไม่เปิดแอร์ เหมือนรถขนส่งสาธารณะทั้งหมดในเมืองทั้งรถแบบแท็กซี่และรถบัสจะไม่เปิดแอร์กัน

กลุ่มเรานัดเจอไกด์ที่สนามบินและเดินทางเข้าโรงแรม หาของกินในวันนั้น พูดคุยกับไกด์เรื่องแผนการเดินทางต่าง ๆ  เดินเล่นซื้อของใช้จำเป็นในการเอาตัวรอดในเขา รับประทานข้าวเย็นแล้วจบวัน

ของส่วนใหญ่ที่ขายเป็นปลอมหมด แต่บางอันปลอมจนอยากได้ วันสุดท้ายเราซื้อเสื้อ North Face มาเพราะมันดูปลอมแบบตลกดี

Thamel ฟีลแบบสำเพ็งบ้านเรา

Day 2, Pokhara

วันนี้ตื่นมาเก็บของเพื่อเดินทางต่อไปยัง Pokhara ซึ่งเป็นเมืองจุดเริ่มต้นของการเดินเขา

ปกติการเดินทางจะเป็นรถบัสแต่เนื่องจากถนนระหว่างเมืองกำลังซ่อมแซมอยู่ ระยะเวลาปกติ 6 ชั่วโมงจึงกลายเป็น 13 ชั่วโมง กลุ่มเราเลือกจึงเดินทางข้ามเมืองด้วยเครื่องบินภายในประเทศถึงแม้จะรู้ว่าสายการบินเนปาลทั้งหมดมีความปลอดภัยต่ำกว่ามาตรฐาน แต่อย่างที่เพื่อนบอกไว้ เสี่ยง 20 นาทีอาจจะดีกว่าเสี่ยงรถตกเหว 13 ชั่วโมง

สนามบินกาฎมันดุ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่หมอชิต 2

สนามบินคือโบราณมาก ไม่มีระบบความปลอดภัยหรือสายพานสัมพาระใด ๆ เขาขนกระเป๋าด้วยรถเข็นผัก

รถเข็นผัก

มีเรื่อง salty คือ บริษัททัวร์เปลี่ยนสายการบินจากที่คุยไว้ Surya Airline เป็น Yeti Airline ที่แม้แต่คนเนปาลในบริษัทเราบอกให้เลี่ยง Yeti Airline คือสายการบินในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเนปาล คนใช้เยอะ ราคาถูก แต่ความปลอดภัยก็ต่ำตาม

เรื่องน่าสนใจคือสายการบิน Yeti พึ่งมีเหตุการณ์เครื่องตกตายยกลำไปเมื่อต้นปี 2023 (Yeti Airlines Flight 691 Incident) และเครื่องที่ตกไปคือเครื่องที่บินเส้นทางเดียวกับเรา Kathmandu to Pokhara อ่านข่าวแล้วยิ่งทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นไปอีก (ประชด)

Fun fact: EU แบนสายการบินจากประเทศเนปาลทั้งหมดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย นโยบายความปลอดภัยทางการบินที่ต่ำกว่ามาตรฐานของหน่วยงานรัฐ

สุดท้ายก็ถึงที่หมายแบบครบส่วน กระเป๋าอยู่ครบ เครื่องดีเลย์ไปชั่วโมงนึง

จากสนามบิน Pokhara ไปโรงแรมไม่นานมาก โรงแรมสวยงาม มีแอร์แค่บางห้อง สำคัญที่สุดคือมีสายฉีดตูด

วันนี้เวลาเหลือเยอะ หลังทานข้าวเที่ยงเสร็จ กลุ่มเราเลยไปนั่งเรือเล่นซึ่งสนุกดี เป็นเรือถีบที่นั่งได้หลายคน เราไม่ต้องถีบเองเพราะจ้างคนถีบได้แต่เพื่อนเราขอไปช่วยเขาถีบเหมือนกัน ได้ภาพมาเยอะเหมือนกันระหว่างล่องเรือ

ไม่รู้ว่ามันคือฝุ่นหรือหมอก

Day 3, Ulleri (1960m)

วันนี้คือวันแรกของการ Trekking โดยต้องนั่งรถต่อไปถึง Nayapul ซึ่งเป็นเมืองเริ่มต้น มีจุด salty อีกอย่างคือความจริงวันนี้ขอนั่งรถ Jeep เข้าไปแต่โดนเปลี่ยนเป็นให้เดินเท้าเข้าไปแทน ความจริงแล้วนั่งรถ Jeep ดีแล้วเพราะระหว่างทางเป็นชนบททั่วไปไม่ได้มีอะไรน่าสนใจ ฝุ่นเยอะด้วยเวลารถวิ่งผ่านไปมา

ถ้าเลือกนั่งรถ Jeep จะไม่ต้องเจอทางแบบนี้ ซึ่งอย่ามาเจอเลย ไม่มีอะไรดี

เส้นทางวันแรกเป็นลูกรังที่บรรจบกับเส้นทางเดินของคนพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นหินปูพื้นและบันไดหินหลายพันขั้นลัดเลาะตามช่องเขาไปเรื่อย ๆ

สุดท้ายมาถึงที่พักช่วงใกล้ค่ำ อากาศเริ่มเย็นพอดี ที่พักคืนแรกเป็นบ้านพักนักเดินเขา มีห้องน้ำในตัว น้ำเย็นเฉียบ ไม่มีสายฉีดตูด

สำหรับอาหาร ทุกที่พักจะสามารถทำอาหารเสิร์ฟได้ เมนูส่วนใหญ่คล้าย ๆ กันหมด แต่ทุกที่ทำอาหารช้าหมด ช้าระดับ 1-1.30 ชั่วโมง เราไม่เข้าใจคนเนปาลเหมือนกัน เป็นทุกร้านด้วยนะ (จะเห็นเราบ่นเรื่องนี้เรื่อย ๆ)

Day 4, Ghorepani (2880m)

วันนี้ออกเดินทางไป Ghorepani ซึ่งเป็นจุดพักแรมสำหรับคนที่จะขึ้น Poon Hill ไปดูพระอาทิตย์ขึ้น เส้นทางเดินไม่ต่างจากวันที่ 3 ซึ่งเป็นทางเดินหินชนบทผสมทางเดินดิน ส่วนใหญ่คือบันไดนับพันขั้นเหมือนเดิม

ทางเดินช่วงครึ่งหลังวันนี้ค่อนข้างสวยงาม ต้นกุหลาบพันปีร้อย ๆ ต้นเต็มภูเขาเปลี่ยนทั้งเขาเป็นสีชมพูประปราย ทางเดินเขากลายเป็นทางเดินชมดอกไม้

วันนี้เดินขึ้นเหนื่อยแต่จบท้ายด้วยที่พักที่ดูดี คืนนี้ของวันนี้พักที่ Ghorepani ซึ่งอย่างที่บอก เป็นเมืองสำหรับคนอยากขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ Poon Hill ทำให้เมืองใหญ่กว่าวานก่อน ของขายครบถ้วน ที่พักมีความเป็นโรงแรมมากขึ้นและมีฮีทเตอร์ส่วนกลาง ห้องพักมีห้องน้ำในตัว น้ำร้อนและสายฉีดตูด

น้ำร้อนของที่พักมาจากเตาฮีทเตอร์ไม้ส่วนกลาง ถ้าโชคร้ายคนเข้าใช้น้ำเยอะ ๆ พร้อมกัน น้ำจะหายร้อนกลายเป็นน้ำเย็นถึงกระดูก พี่ ๆ ในกลุ่มโดนหลอกให้อาบน้ำเย็น ส่วนเราโชคดีได้อาบน้ำและซักผ้าด้วยน้ำอุ่น

Day 5, Poon Hill (3200m) & Tadapani (2630m)

วันนี้เริ่มเดินตั้งแต่ตีสี่เพื่อขึ้น Poon Hill ไปดูพระอาทิตย์ขึ้น อากาศด้านบนหนาวสัก 5-6 องศา แต่ไม่มีหิมะ

แสงแรกที่ Poon Hill

Poon Hill เป็นจุดที่มองเห็นแนวเขา Annapurna เกือบทั้งหมด สามารถเห็น Machapuchare, Annapurna I, Annapurna II และ Annapurna South ได้ เป็นวิวมองไกล ๆ ด้านบน Poon Hill คนเยอะมาก มีห้องน้ำสามห้อง มีร้านขายเครื่องดื่มร้อนหนึ่งร้าน

สำหรับ Poon Hill นั้นพูดตรง ๆ ว่าไม่ต้องมาหรอกถ้าตั้งใจจะไปเดินถึง ABC อยู่แล้ว วิวมันก็ดีแต่ไม่ได้อลังการมาก คนเยอะ ที่สำคัญคือทำให้เสียเวลาเดินทางเพิ่มจาก 7 วันเป็น 10 วันเพราะต้องอ้อมมา Poon Hill ก่อนเริ่มเดินไป ABC วิวระหว่างทางก็เหมือนวิวป่าไทยเวอร์ชั่นโดน steroid อัดเข้าไป สวยกว่าไทยแต่ไม่ได้ต่างไปมากจนประทับใจ

ข้อดีของการมาที่นี่คือได้ทำ Acclimatization ก่อนเพื่อให้ร่างกายปรับตัวที่ความสูง 3200m ก่อนขึ้นไปเจอ ABC ที่ความสูง 4200m

หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น ก็เดินกลับลงมาที่พักเพื่อทานข้าวเช้าแล้วออกเดินทางต่อไปที่ Tadapani ซึ่งจะเป็นจุดพักแรมสุดท้ายก่อนข้ามไปเส้นทางเดินหลักของ ABC

ทางเดินวันนี้ข้ามภูเขาและป่าที่แทรกไปด้วยต้นดอกกุหลาบพันปีเหมือนเดิม

ลูกม้า? ลา? ล่อ? โพนี่?

ระหว่างเดินทางวันนี้ กลุ่มเราเริ่มเจอฝนแห่งเขา Annapurna ซึ่งคือฝนที่จะเริ่มตกช่วงทุกบ่ายสองของทุกวัน ตกเวลาเดิมแล้วหยุดตกเวลาเดิมเกือบทุกวันจริง ๆ ทำให้การเดินวันนี้ยากขึ้นไปอีกเพราะบางจังหวะฝนก็ตกลงมาเป็นลูกเห็บเพราะอากาศหนาวเย็น

ภาพจากกล้องมือถือ มันสว่างกว่าความเป็นจริง

ระหว่างเดินค่อนข้างทรมานมือตัวเองเพราะเราไม่มีถุงมือกันน้ำ ทุกครั้งที่ฝนตกลงมือจะเหมือนโดนเข็มแทงเพราะฝนเย็นเฉียบ เสื้อกันฝนเราก็เสื่อมจนมันไม่กันฝนแล้ว ทำให้เหมือนเดินตากฝนตลอดเวลา จินตนาการเดินตากฝน 12 องศา 2 ชั่วโมงกว่า สุดยอดจริง ๆ

แต่พอหลังฝนตก แดดเริ่มออก ป่าก็เหมือนกลับมามีชีวิตทันที เราหยุดเดินหลายรอบมากเพื่อซึมซับบรรยากาศในป่า เราเดินทิ้งห่างจากคนอื่นเพื่อจะได้รอให้ทุกอย่างเงียบเหลือแค่เสียงใบไม้พัดไปมา ต้นไม้เสียดสีเอี๊ยดอ๊าด ลมพัดผ่าน และสำคัญที่สุดคือกลิ่นของป่าหลังฝน

ป่าหลังฝน

ท้ายที่สุดก็เดินมาถึงที่พัก ได้อาบน้ำอุ่น กินข้าวแล้วเข้านอน

Day 6, Chomrong (2170m)

เช้าวันนี้เจอเรื่องนอกแผน เพื่อนคนนึงในกลุ่มเริ่มมีอาการป่วย คาดว่าเพราะฝนตกเมื่อวานและความหนาวเย็น รวมถึงออกซิเจนที่น้อยลง (น้อยลง ~25% จากระดับน้ำทะเล) วันนี้จึงตัดสินใจออกเดินสายขึ้น 1-2 ชั่วโมงเพื่อให้เพื่อนได้นอนพักต่อ วันนี้ทางเดินสั้นและไม่นานจึงไม่มีปัญหามากนัก

หลังจากปล่อยให้เพื่อนที่ป่วยได้นอนพัก กลุ่มเราก็ออกเดินทางต่อ ทางวันนี้เป็นการเดินผ่านพื้นที่หมู่บ้านคนท้องที่ตลอดทางโดยเลียบภูเขาไปเรื่อย ๆ ก็จะได้เห็นพื้นที่การเกษตร ที่พัก สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ และสำคัญคือได้เดินข้ามสะพานแขวนใหญ่ ๆ ด้วย (เราชอบแต่พี่ในกลุ่มอีกคนไม่ชอบ) สุดท้ายไปพักที่หมู่บ้าน Chomrong

ยิ่งเข้าใกล้เทือกเขา Annapurna เท่าไหร่ฝนยิ่งตกมากขึ้น วันนี้ก็ไม่วายตกหนักกว่าเดิมแถมลมแรงด้วย บางจังหวะต้องหยุดพักหลบฝนหลบลมเพื่อความปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนที่ป่วยก่อนหน้านี้อาการก็เริ่มแย่ลง สุดท้ายต้องฝืนเดินไปเรื่อย ๆ จนถึงที่พัก

ตอนเดินถึงที่พัก เป็นความรู้สึกโล่งใจมากเพราะทั้งเพื่อนป่วย ทั้งอากาศหนาวเย็น แต่ถึงที่พักปุปกลับไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะระหว่างวันไฟจะมาจากโซล่าร์เซลล์ ต้องรอตกค่ำเพื่อให้สถานีปั่นไฟเริ่มส่งไฟฟ้ามาให้

ตอนเดินถึง ก็นั่งพักในห้องอาหาร ดื่มน้ำร้อนจากกระติกน้ำไซส์ 2L ที่ปกติเห็นได้แค่ในเกมเอาชีวิตรอด จนพอเริ่มค่ำไฟก็เริ่มมาและได้สั่งทานข้าวเย็นในที่สุด ข้าวที่นี่รสชาติพอใช้ได้

ที่นี่เป็นคืนแรกที่ไม่อาบน้ำเพราะไม่มีน้ำอุ่น ส่วนอากาศก็เย็นพอที่จะไม่รู้สึกเหนียวตัว และเป็นคืนแรกที่ห้องนอนไม่มีห้องน้ำแยกแล้ว หลังจากนี้ไปที่พักจะไม่มีห้องน้ำในห้องนอน ต้องใช้ร่วมกันที่ส่วนกลาง

วันนี้พอเริ่มเดินเข้าเส้นทาง ABC จากความเหนื่อยแบบขำ ๆ เริ่มกลายเป็นความเครียดจริงจังเพราะฝนตกหนัก หนาวเย็นและกังวลเพื่อนที่ป่วย คืนนี้ทุกคนนั่งคุยกับไกด์กันว่าควรทำยังไงต่อดีสำหรับเพื่อนที่ป่วย ซึ่งมีสามตัวเลือก คือ เดินต่อ กลับลงไปหรือนอนพักที่นี่จนกว่าจะหาย สุดท้ายก็เลือกว่ารอดูอาการวันรุ่งขึ้นก่อนค่อยตัดสินใจ

Day 7, Dovan (2600m)

เช้านี้ตื่นมาถ่ายรูปยามเช้า วิวจาก Chomrong สามารถมองเห็นแนวเขา Annapurna South, Annapurna I, และ Machapuchare ได้ชัดเจนขึ้น

ขอให้พี่ในกลุ่มใช้มือถือเราถ่าย (shot by Pixel 7)

เช้านี้เพื่อนที่ป่วยอาการดีขึ้น มีแนวโน้มพร้อมเดินทางต่อได้ กลุ่มเลยตัดสินใจเลือกตัวเลือกเดินทางต่อไปจุดหมายต่อไป คือ Dovan ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางผ่านก่อนขึ้นไปถึง Machapuchare Base Camp (MBC)

เส้นทางวันนี้เป็นการเดินลงสุด ขึ้นสุด 80% เป็นการเดินขึ้น และเป็นเส้นทางหลักเดินทางไปยัง ABC หลังจากก่อนหน้านี้เป็นทางเดินอ้อมไป Poon Hill โดยเส้นทางจะเดินผ่านชุมชนหลายจุด เช่น Sinuwa ซึ่งเป็นจุดทานข้าวเที่ยง, หมู่บ้าน Bamboo ก่อนไปพักที่ Dovan

ระหว่างเดินวันนี้ก็เริ่มพบเจอคนมากขึ้นเพราะเข้าเส้นทางหลัก พบเจอเกาหลีเป็นส่วนใหญ่ ฝรั่ง ไทย อินเดีย ตามลำดับลงมา

หลังจากพักทานข้าวเที่ยงแล้วเดินทางต่อ ฝนก็เริ่มตกลงมาเหมือนเดิม วันนี้แย่ลงไปอีกคือฝนตกหนักมากจนมองไม่เห็นทาง บ่ายสามแต่มืดเหมือนหกโมงเย็น ทางลื่น บันไดมีน้ำไหลเป็นน้ำตก อากาศก็หนาวเย็น จนสุดท้ายไปต่อท่าจะไม่ดี ไกด์เลยพาหยุดพักที่ Bamboo ซึ่งเป็นหมู่บ้านระหว่างทางเพื่อรอฝนซา

ฝนตกหนักมาก

หลังจากหยุดพักได้ไม่นาน ฝนเริ่มเบา ก็รีบออกเดินทางต่อเพราะยิ่งมืดจะยิ่งอันตราย ซึ่งเราก็คาดการณ์มาไว้ระดับนึงเลยหยิบ headlamp มาใส่ตลอดทางเผื่อฝนจะทำให้ฟ้ามืดกว่าเดิม ซึ่งมันก็มืดกว่าเดิมจริง ๆ (พี่ในกลุ่มบอกว่า ณ จุดนี้เหยียบขี้สัตว์หรือดินก็มองไม่ออกแล้ว)

เรื่องน่ากังวลต่อมาคือมีเพื่อนป่วย กระเป๋าเพื่อนป่วยเลยย้ายไปอยู่ที่ลูกหาบ แต่ระหว่างเดินช่วงสุดท้าย พี่คนที่เดินช้าสุดในกลุ่มเริ่มเดินไม่ไหว เลยต้องให้ลูกหาบแบกกระเป๋าพี่คนนั้น แล้วคนในกลุ่มช่วยแบกกระเป๋าเพื่อนที่ป่วย (context: เราแบกของ 7KG คนอื่นน้อยกว่านี้ เป็นพวกบ้าหอบฟาง) ตอนแบกกระเป๋าเพื่อนแล้วเดินคือต้องฮึบมาก เดินลุยฝนต่อไปเรื่อย ๆ ทีละก้าว ๆ ไม่มีใครอยากหยุดเพราะกลัวป่าจะมืดไปกว่านี้

สุดท้ายก็เดินไปจนถึงเขตหมู่บ้าน Dovan ขอบอกเลยว่าตอนนั้นโล่งใจมาก ๆ แบบไม่เคยโล่งใจที่เห็นหมู่บ้านคนกลางป่าขนาดนี้มาก่อน แล้วฝนก็เริ่มซาลงพอดี

พอถึงที่พักก็แยกย้าย เราจ่ายเงินเพื่ออาบน้ำอุ่นที่ร้อนจนเหมือนน้ำเดือด แต่มีน้ำร้อนให้อาบก็บุญแล้ว ไม่ได้ฟรีนะ คนละประมาณ 100 บาท

อาหารเย็นตอนนี้ กลุ่มเราส่วนใหญ่สั่งมาม่าเกาหลีเพราะอากาศหนาวมาก ไม่มีใครอยากกินข้าวที่เย็นในพริบตาแล้ว แต่เราดันสั่งพิซซ่ามา... สุดท้ายเลยขอแลกครึ่ง ๆ กับพี่อีกคนที่กินมาม่าเกาหลี

เพื่อนที่ป่วยวันนี้ หลังจากเดินมา 6 ชั่วโมง เจอฝนตกหนักและอากาศหนาวรวมถึงออกซิเจนที่น้อยลงทำให้อาการป่วยไข้เริ่มหนักขึ้น จนเพื่อนทุกคนในกลุ่มเริ่มเป็นกังวลมากขึ้นว่าถ้าไปต่อกว่านี้อาจจะอันตรายถึงชีวิต ทุกคนเลยคุยกันแล้วตัดสินใจกันว่าไม่ควรไปต่อแล้ว หลังจากคุยกับไกด์จึงได้ข้อสรุปว่าให้พักอยู่ที่ Dovan จนกว่าอาการจะดีขึ้นแล้วเดินกลับลงไปกับผู้ช่วยไกด์อีกคน

หนึ่งคนต้องยอมแพ้ไป เจ็ดคนที่เหลือเตรียมเดินทางต่อ

Day 8, Machapuchare Base Camp - MBC (3700m)

เงาในภาพคือเราที่พยายามตั้งกล้องถ่าย long exposure แล้ววิ่งไปกลับหลายรอบ

เช้าวันนี้จะเริ่มเดินขึ้นเหนือพื้นที่สูงกว่า 2800 เมตร ซึ่งจะทำให้วิวต่าง ๆ เปลี่ยนไปแบบทุนดรา คือ ต้นไม้ใหญ่เหลือน้อย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โล่ง มีหญ้าพุ่มโตประปราย

เส้นทางจะเป็นการเดินข้ามแม่น้ำ พื้นที่ร้าง น้ำตก ลุยโคลนและหิมะถล่มบางจุด โดยคำบอกเล่าจากเพื่อนเนปาลบอกว่าพื้นที่แถบนี้ถ้าเป็นฤดูหนาวจะเป็น death trap คือเข้าออกไม่ได้เลย ส่วนไกด์เล่าเพิ่มว่าระหว่างทางมีหิมะถล่ม ทางเดินจึงต้องปรับเปลี่ยนไปบ้าง

อากาศวันนี้รวม ๆ คือเริ่มเย็นขึ้นจนต่อให้อยู่กลางแดดก็ยังหนาว คิดว่าเริ่มเหลือหลักเดียว แสงแดดกลายเป็นสิ่งที่คนอยากได้โดยเฉพาะเรา (ตรงข้ามกับอยู่ไทย) แต่เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเห็นหิมะมากขึ้น

1/3 ของเส้นทางเป็นป่าและเขา แต่ยิ่งเดินไปต้นไม้ใหญ่จะมีให้เห็นน้อยลงจนเริ่มเหลือแค่ต้นไผ่ สุดท้ายคือเหลือเพียงทุ่งหญ้าโล่ง ลานก้อนหินรกร้างที่โดนน้ำจากเขา Annapurna พัดมา

ข้างหน้าคือ Machapuchare ซึ่งเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์จึงห้ามปีนขึ้นยอด

เราคุยกับเพื่อนว่า ถ้าพระเจ้าพึ่งสร้างโลก โลกที่พึ่งเกิดน่าจะให้ความรู้สึกประมาณนี้ ร้าง อ้างว้าง ไร้ชีวิต หรือพูดอีกอย่างคือวิวเหมือนวันสิ้นโลก (but technically ไอซ์แลนด์ใกล้เคียงโลกพึ่งเกิดมากสุด)

วันนี้เดินเหนื่อยลุยโคลนและทางชัน จาก Dovan ไป MBC จะมีความสูงเพิ่มขึ้นอีกพันเมตร แต่เริ่มเป็นช่วงที่ถ่ายรูปสนุกมากขึ้นเพราะวิวหาไม่ได้ในประเทศไทย ข้างทางเป็นดินบ้างโคลนบ้าง มีพุ่มไม้เล็ก ๆ โตปะปราย ตรงกลางเป็นทางหินกรวดที่เกิดจากน้ำหลากฤดูฝน

จนเดินไปใกล้ถึงจุดพักของวันนี้ซึ่งคือ MBC พื้นดินทั้งหมดก็ไม่เหลือไม่เห็น กลายเป็นหิมะคลุมไปทั้งหมดแล้ว พอทำเนาได้ว่าอุณหภูมิใกล้ 0 องศา

หลังจากเดินต่ออีกไม่นานก็ถึงที่พัก เป็นอีกครั้งที่รู้สึกดีใจมากที่ได้เห็นที่พักหลังเดินเท้ามา 6-7 ชั่วโมง และเป็นเรื่องโชคดีมากที่มาถึง ณ ตอนนั้นพอดี หลังจากถึงที่พักไม่ถึง 5 นาที หิมะและหมอกที่ไล่หลังมาตลอดก็เริ่มตกลงมา

ถ้าเดินช้ากว่านี้สัก 30 นาที เส้นทางน่าจะอันตรายมากขึ้นเพราะมีจุดเดินบนขอบหิมะที่อีกฝั่งเป็นแม่น้ำ ไม่มีใครอยากตกน้ำในพื้นที่อากาศ 0 องศาให้เป็น hypothermia เล่นแน่นอน

พอมาถึงที่พักเราขอไกด์อาบน้ำอุ่น แต่วันนี้ไกด์ไม่ให้เราอาบน้ำเพราะถ้าอาบน้ำอุ่นแต่ออกมาเจอเย็นจัด (ห้องอาบน้ำอยู่นอกห้องพัก) จะเสี่ยงให้ป่วยเพิ่มอีกคน เราเลยไม่อาบ

ที่พักที่นี่อยู่กลางทุ่งหิมะ แต่ไม่มีฮีทเตอร์หรือเตาไฟเหมือนที่พักด้านล่าง (ซึ่งอุ่นกว่า) ทุกคนเลยดื่มน้ำอุ่น แต่งตัวหนา ๆ มานั่งชิด ๆ ด้วยกันเป็นกลุ่มแทน เพื่อนเรียกมันว่า Penguin Colony

กินข้าวเสร็จก็เข้านอนเตรียมออกเดินทางวันสุดท้าย สู่ปลายทาง ABC

Day 9, Annapurna Base Camp - ABC (4200m)

ปลายทางวันนี้คือ Base camp ของยอดภูเขาในภาพ Annapurna I

Fun fact: Annapurna I Summit เป็นหนึ่งในยอดเขาที่อันตรายที่สุดในโลก อันตรายกว่า Everest Summit หลายเท่า โดยมีความสูงหนีไม่ห่างจาก Everest มาก 8,091m

รุ่งสางวันนี้ พี่ในกลุ่มเล่าในฟังว่ามีคนต่างชาติโวยวายเสียงดังตอนตีสี่กว่านอกที่พักว่าข้อเท้าพลิกต้องการกลับลงไป แต่ไม่สามารถเรียกเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยลงไปได้เพราะคิวเฮลิคอปเตอร์เต็ม สุดท้ายเหมือนคนนั้นต้องยอมทนเดินกลับลดระดับลงไปด้วยตัวเอง

ตื่นเช้ามาทานเช้า รับแดดให้อุ่น ใส่ crampons (หนามรองเท้าสำหรับเดินบนน้ำแข็ง) แล้วเริ่มเดินมุ่งหน้าไป ABC ซึ่งเส้นทางวันนี้ค่อนข้างสั้น ประมาณ 2 ชั่วโมง แต่เป็นเส้นทางเดินบนหิมะที่กินแรงมากเพราะลื่นตลอดเวลา และต้องเดินระวังเพราะถึงแม้เดินอยู่บนพื้นหิมะตื้น ๆ แต่ถ้านอกเส้นทางไม่ถึงครึ่งเมตรก็ล่วงไปในหิมะสูงครึ่งตัวแล้ว

ทางเดินเป็นลักษณะคล้ายหุบเขามุ่งหน้าตรงไปหน้า ABC และด้านหลังคือ MBC

ถึงแม้หิมะจะท่วมไปหมด แต่แดดก็แรงมากเช่นกัน ระหว่างเดินใส่เสื้อยืดตัวเดียวก็เอาอยู่แล้วเพราะร้อนมาก เหงื่อออกระหว่างเดินด้วย แต่เมื่อหยุดพักไม่ถึงห้านาที เหงื่อก็กลายเป็นน้ำเย็นเฉียบเหมือนโดนโยนน้ำแข็งใส่เสื้อสมัยเด็ก เลยต้องเดินต่อไปและหยุดพักหายใจไม่เกิน 2-3 นาที

crampons ก็ค่อนข้างเกะกะ เราโชคร้ายที่มันดันไปเกี่ยวรองเท้าอีกข้างของเราทำให้เท้าเราล็อคติดกันแล้วล้มทิ่มไปในหิมะ ตอนนั้นเราเดินทิ้งห่างจากเพื่อนเลยไม่มีคนช่วยแกะหนามให้ สภาพเราคือเหมือนคนโดนจับมัดขาเรียกค่าไถ่ ต้องนอนลงพลิกตัวแล้วพยายามคลายล็อคที่ติดที่รองเท้าด้วยตัวเอง

ระหว่างเดินคือต้องใส่แว่นกันแดดตลอดเวลา ถอดแว่นปุปเหมือนตาบอดเพราะพระอาทิตย์สว่างมาก หิมะก็สะท้อนแสงจนกลายเป็นพื้นที่ขาววิ้ง

และสุดท้ายก็เดินมาถึงปลายทาง จุดถ่ายรูปที่เป็น a must

เรา (คนซ้าย) ถ่ายรูปคู่กับไกด์เชอร์ปาร์ (คนขวา) ไกด์ทำตัวชิวเหมือนเดินพาราก้อน

สุดท้ายก็ต้องรีบถ่ายรูปแล้วเดินต่อเพื่อเข้าที่พักเพราะมีคนรอถ่ายต่อบวกกับอากาศหนาวเกิน

ระหว่างทางจากป้ายก่อนเข้าที่พัก เดินผ่านลานจอดเฮลิคอปเตอร์ซึ่งเป็นจุดรับส่งผู้โดยสารทั้งแบบฉุกเฉินและจ่ายเงินเอง และเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนส่งของด้วย สำหรับคนอยากนั่งเฮลิคอปเตอร์กลับแบบคูล ๆ สนนราคาเริ่มต้นที่ 60,000 บาทต่อเที่ยว

เมื่อไปถึง เพื่อนคนนึงก็ฟุบหลับไปเลย (ไม่ใช่คนเสื้อเหลืองในภาพด้านล่าง) มีอาการ AMS ทั้งที่กินยา Diamox มาแล้ว น่าจะเพราะอากาศตอนนี้น้อยกว่าที่ระดับน้ำทะเล 30% อาการคือไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ เวียนหัว ส่วนคนอื่น ๆ ที่มาถึงก็งีบหลับกัน

ห้องอาหาร

สำหรับ AMS ร่างกายเราปรับตัวค่อนข้างดี ปกติเราเป็นคนหายใจช้าและเบาแต่ทุกคืนตั้งแต่ Dovan ขึ้นมาร่างกายเราหายใจแรงและลึกขึ้นแบบที่เราควบคุมไม่ได้ เดาว่าร่างกายพยายามดึงออกซิเจนเข้าให้ได้มากที่สุด

เป็นอีกครั้งที่รู้สึกว่าโชคดีและไกด์เก่ง หลังจากเข้าที่พักไม่นาน หิมะเริ่มตก หมอกเริ่มตามมา ทัศนวิสัยบางช่วงมองได้ไกลไม่ถึง 5 เมตร และหิมะที่ตกมาเพิ่มยิ่งทำให้บ้านพักแต่ละหลังโดนหิมะกลบเพิ่มเข้าไปอีก

อากาศตอนนี้ประมาณ 3-5 องศาแต่จะกลายเป็น -3 เมื่อตกดึกและไปถึง -7 ในบางจุด ถึงแม้จะฟังดูไม่เย็นมากเทียบกับเวลาเที่ยวต่างประเทศแต่ต้องอย่าลืมว่าทั้งหมดนี้คืออยู่แบบไม่มีฮีทเตอร์และน้ำร้อนใช้ ห้องน้ำตั้งอยู่ด้านนอกอาคาร ที่พักไม่ได้บุฉนวนกันความเย็น และน้ำร้อนสำหรับบริโภคสนนราคาที่ ~300 บาทต่อกระติก ซึ่งทุกคนก็ยอมซื้อเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

ส่วนของวันนี้ก็จบเพียงเท่านี้ ใช้เวลาทั้งวันที่เหลือนั่งคุยเล่น เล่นไพ่ ออกไปถ่ายวิว Annapurna Glazier ตอนเย็นก่อนกลับเข้าที่พักเพื่อเข้านอนเตรียมตื่นมาดูแสงอาทิตย์แรกของวันซึ่งเขาเรียกกันที่นี่ว่า The Golden Light

Annapurna Base Camp

Day 10, Bamboo (2810m)

เช้าวันนี้ทุกคนตื่นเช้าเพื่อไปดู The Golden Light ณ จุดชมวิว ซึ่งเป็นขอบหน้าผาที่คิดว่าถ้าตกลงไปเขาคงไม่เสียเงินมาเก็บศพแน่นอน ด้านล่างเป็นหุบเขาและธารน้ำแข็ง Annapurna โดยบางครั้งจะได้ยิงเสียงดินถล่ม เราเห็นดินถล่มรอบนึงระหว่างดูวิวเมื่อวาน

The Golden Light เริ่มปรากฏเมื่อพระอาทิตย์ฉายแสงพาดผ่านเหนือยอดของ Machapuchare มากระทบกับยอดของ Annapurna I ทำให้ยอดภูเขาหิมะกลายสภาพเป็นยอดเขาสีทอง (วิวเหมือน Poon Hill แต่ใกล้กว่า)

Annapurna I

ดูวิวเสร็จกลับมากินข้าว เก็บของเตรียมลดระดับลงไปที่หมู่บ้านปลายทาง Bamboo  

ระหว่างทางเดินลงซึ่งเป็นเวลาประมาณ 8 โมง วิวทั้งภูเขาก็สวยขึ้นมากเทียบกับตอนขาเดินมาที่ ABC เพราะฟ้าโปร่ง แสงไม่แรงเกิน ยอมรับว่าถ่ายรูปเท่าไหร่ก็ไม่พอ

ระหว่างเดินเรายอมทิ้งห่างจากเพื่อนในกลุ่มเพื่อยืนมองวิวเงียบ ๆ คนเดียว เดินเขาหิมะไม่เหมือนเดินป่าหนึ่งอย่าง คือ เมื่อหยุดเดินกลางหิมะ เสียงทุกอย่างจะเงียบสนิท ไม่มีเสียงสัตว์ ไม่มีเสียงลม หิมะดูดซับเสียงไปทั้งหมด จนรู้สึกเหมือนหูดับไปเลย เป็นความรู้สึกที่ทำให้คิดว่าทั้งภูเขานี้เหลือแค่เราคนเดียว

วันนี้เดินลงอย่างเดียว ไม่เหนื่อยแรงเรามากแต่เหนื่อยแรงพี่ในกลุ่มที่เป็นสิงห์ขาขึ้น แต่ปวดเข่าเวลาเดินลง สุดท้ายใช้เวลา 6 ชั่วโมงกว่าเดินถึงหมู่บ้านปลายทาง Bamboo

ระหว่างเดินลงเราสักเกตเห็นว่าภูเขามีจุดตัดระหว่างพื้นที่หญ้าแห้งและพื้นที่สีเขียวชัดเจนมาก เลยถ่ายรูปเก็บไว้

ถึงที่พักประมาณห้าโมง ที่พักวันนี้มีน้ำอุ่นให้อาบสบาย ๆ อากาศไม่หนาวจัดเท่าด้านบน จึงเป็นวันชิวระดับนึง สุดท้ายกินข้าวเย็น นั่งคุยเล่นและเข้านอน

Day 11, Jhinu Danda (1780m)

วันนี้กลุ่มเราก็เดินลดระดับลงมาที่หมู่บ้านสุดท้าย Jhinu Danda ก่อนขึ้นรถกลับเข้าเมืองในวันถัดไป สำหรับเพื่อนคนที่ป่วยก็ได้กลับออกจากภูเขาไปพักที่ Pokhara เรียบร้อย

วันนี้ทาง 90% เป็นการเดินลง แต่จะมีทางส่วนสุดท้ายที่ขึ้นสุดเพื่อข้ามภูเขาทั้งลูก ทางเดินขึ้นเป็นบันไดหินชุมชน เราไม่ได้นับแต่เดาว่ามันน่าจะเป็นพันกว่าขั้น ทำคน breakdown ระหว่างขึ้นได้เลย

วันนี้บังเอิญตรงกับวันขึ้นปีใหม่ไทย 13 เมษายนพอดี แต่ยิ่งไปกว่านั้น มันคือวันปีใหม่ของเนปาลด้วยเช่นกัน ระหว่างทางเลยเจอชาวบ้านจัดซุ้มขายของ มีงานเทศกาลปะปราย

หลังกินข้าวเที่ยงเสร็จออกเดินทางต่อ วันนี้ฝนยังไม่วายเทลงมาส่งท้าย ถึงแม้ไม่หนักมากแต่ฝนตกระหว่างเดินลงก็ต้องคอยระวังลื่นเหมือนกัน ยิ่งเป็นทางชุมชนต้องเดินสวนกับลาขนของ กลัวลาถีบตกเขามาก

ณ จุดนี้ก็ได้ประสบการณ์เพิ่ม คือ ต้องทำแผลกลางฝนเพราะรองเท้าเริ่มกัดเท้าเรามากขึ้น เราต้องหยุดเดินเพื่อเอาพลาสเตอร์มาปิดจุดที่โดนรองเท้ากัด

วันนี้ก็ยังมีความ salty อีกเช่นเคย สุดท้ายถึงที่พัก ที่พักไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาบอกฝนตกบังโซล่าเซลล์ต้องรอไฟจากสถานีปั่นไฟ แต่สุดท้ายทั้งคืนก็ไม่มีไฟฟ้าใช้จนรุ่งเช้าวันถัดไป

อีกเรื่องคือเพื่อนไปขอน้ำร้อนจากที่พัก เจ้าของที่พักขายน้ำร้อนประมาณ 300 รูปี แต่เช้าวันถัดไปให้ฟรี ทุกคนเลยสงสัยว่าเพราะอะไร ป้าเขาขี้เกียจลุกมาต้มน้ำหรือเปล่า แต่คนเนปาลเป็นอย่างงี้หลายที่มาก เราไปขอน้ำจากโรงแรม เขาบอก 150 รูปี พอเราไม่เอา เขาก็ให้ฟรี (งง)

ที่พักเหมือนคุก ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีผ้าห่มด้วย ทุกคนด่าว่าอิป้าเจ้าของที่พักงกหรือเปล่า

Day 12, Pokhara

วันนี้เรากับเพื่อนตื่นเช้าเดินลงเขาไปกับไกด์เพื่อแวะบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติกลางเขา ซึ่งใช้เวลาเดินไม่นาน 15 นาทีก็ถึงแล้ว

สภาพบ่อน้ำร้อนคือเหมือนเราไปแช่บ่อน้ำกลางไซต์ก่อสร้างกลางเขา แยกไม่ออกว่าอันไหนทำเสร็จแล้ว อันไหนยังก่อสร้างอยู่ แต่น้ำอุ่นสบายดี มี 4 บ่อให้แช่ ใส่กางเกงลงได้เลยเพราะเราทำงั้น ไม่มีกฏหรืออะไรบอกเพราะต่อให้มีก็หาไม่เจอ...

บ่อน้ำร้อนมีที่อาบน้ำด้วย เป็นท่อก่อสร้างต่อออกมาแล้วเราไปยืนอาบใต้นั้น (If it works, it works)

แช่เสร็จ เดินกลับขึ้นมาอีก 30 นาที ทานข้าวเช้า เก็บของเตรียมเดินทางไปขึ้นรถ Jeep เพื่อกลับสู่ Pokhara

วันนี้ highlight คือการเดินข้ามสะพานแขวนยาว 300 กว่าเมตร ซึ่งเป็นจุดถ่ายรูปของทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่เดินข้าม ลาและม้าก็เดินข้ามเส้นทางนี้ เราโชคร้ายหน่อยเดินตามตูดลา แต่มันไม่ได้ขี้ดักหน้าก็ถือว่าโอเค

ข้ามสะพานแขวนไป เดินต่ออีกห้านาทีก็เห็นความเจริญ น้ำตาจะไหลที่ได้เห็นรถในรอบสิบกว่าวัน

จากจุดนี้ คน 8 คนรวมไกด์นั่งรถ Jeep คันเดียวเดินทางต่ออีกชั่วโมงกว่าก็ออกจากภูเขาและถึงที่พัก โรงแรมเดิมที่ Pokhara และได้พบกับเพื่อนที่ป่วยไปต่อไม่ได้ที่โรงแรม สุดท้ายเพื่อนก็อาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่กลับลงมาจากภูเขา

ถึงที่พักก็เก็บกระเป๋าแล้วออกไปหาอะไรกินส่งท้ายวันสุดท้าย

Day 13, Kathmandu

วันนี้ออกจากโรงแรมเพื่อไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน Pokhara นั่งสายการบินเจ้าเดิม Yeti Airline กลับสู่ Kathmandu

วันนี้ดวงเหมือนจะซวยกับสายการบินตัวดี Yeti Airline เพราะเครื่องบินแอร์เสีย ฟีลเหมือนนั่งรถบัสร้อนสมัยมัธยมแต่มันเปิดกระจกไม่ได้ ยังดีที่ไฟล์ทใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงก็ถึงปลายทาง ไม่งั้นเป็นลมตายทั้งลำ

สุดท้ายถึง Katmandu ปลอดภัย ช่วงเย็นแวะกินข้าวและเดินช้อปปิ้งใน Thamel ส่งท้าย

Day 14, Bangkok

เช้าวันนี้ตื่นมาไปสนามบินนานาชาติ Kathmandu เพื่อเตรียมกลับประเทศไทย นั่งการบินไทยกลับ

อาหารการบินไทยอร่อยเช่นเคย อร่อยกว่าอาหารเนปาลมากมาย

ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เครื่องลงแตะถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นการปิดภารกิจพิชิต Annapurna Base Camp เพียงเท่านี้

สุวรรณภูมิเวลาพระอาทิตย์ตก

สรุป

รวมระยะทางเดินทั้งหมดเกือบ 100 กิโลเมตรตลอดการเดินทาง 10 วัน เส้นทางไม่ยากแต่เน้นความทนทาน อย่าไปเชื่อเวลาคนบอกว่าง่าย (โดยเฉพาะคนเนปาล) เพราะเราเจอคนไทยยอมแพ้ระหว่างทางหลายคน เพื่อนเราเจอผู้หญิงฝรั่งร้องไห้ระหว่างทางเพราะเขาไม่ไหว

ด้วยงบประมาณ 70,000 บาท ไม่รวมค่าอุปกรณ์เดินป่า รู้สึก overprized ระดับนึง แต่ก็ไม่เสียใจที่ได้ไป แต่ไม่กลับไปซ้ำแน่นอน

หนึ่งในของฝากที่ซื้อกลับมาจาก Thamel เป็นหินแม่เหล็กติดตู้เย็น งานทำมือ